HRMS

งานวิจัย [134]

งานวิจัย
โครงการวิจัยการศึกษา สภาพปัจจุบัน ปัญหา และแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู
2563
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สภาพปัจจุบัน ปัญหา ในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพื่อศึกษาข้อเสนอแนะและแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพกับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา เช่น ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด
ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 19 ตัวอย่าง ใช้การเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ส่วนการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณกับกลุ่มข้าราชการครูที่เป็นผู้รับผลจากการใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้าย ผู้วิจัยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตร Taro Yamane (1973; อ้างถึงใน วรรณี แกมเกตุ, 2551) ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ยอมให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ ± 5% จำนวน
ไม่น้อยกว่า 398 ตัวอย่าง ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างจากการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ จำนวน 418 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ และแบบสอบถามในการเก็บข้อมูล
เชิงปริมาณ การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการใช้สถิติพื้นฐาน คือ แจกแจงความถี่ (Frequency Distribution) การคิดอัตราร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean Score)
ผลการวิจัย พบว่า สภาพปัญหาของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู พบว่า ด้านองค์ประกอบการย้ายกรณีปกติ รายละเอียดตัวชี้วัดของรางวัลที่ได้รับหรือผลงานที่แสดงถึงความรู้ความสามารถ ควรกำหนดรายละเอียดของตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น ประเภทรางวัล ระดับของรางวัล จำนวนรางวัล เป็นต้น ส่วนด้านองค์ประกอบการย้ายกรณีพิเศษ
ผู้พิจารณากลั่นกรองการย้ายควรให้ความสำคัญกับการดูแลบิดามารดาที่เจ็บป่วยร้ายแรงมากกว่า
การย้ายกรณีอื่น และควรเชื่อมั่นและดำเนินการตามความเห็นของแพทย์ที่ปรากฎในหลักฐานทางการแพทย์
สภาพปัญหาจากการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู พบว่า ด้านระยะเวลาการยื่นคำร้องการย้ายกรณีปกติ อาจปรับเป็นยื่น
คำร้องในเดือนสิงหาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ทราบตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุราชการ และควรปรับระยะเวลาการยื่นคำร้องเป็นปีละ 2 ครั้ง และอาจปรับเปลี่ยนเป็นสามารถยื่น
คำร้องได้มากกว่า 1 เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการขอย้ายได้สำเร็จ นอกจากนี้ ด้าน
ผู้พิจารณากลั่นกรองการย้าย จากการดำเนินงานในปัจจุบันเกิดปัญหาในเรื่องความล่าช้าใน
การพิจารณาการย้าย เนื่องจากการพิจารณากลั่นกรองการย้ายในปัจจุบันเป็นอำนาจหน้าที่ของ อกศจ. แต่ผู้รวบรวมข้อมูลการยื่นคำร้องขอย้ายของข้าราชการครูเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานขึ้น ขั้นตอนการพิจารณามากขึ้น ทำให้มีความล่าช้าที่โรงเรียนจะได้รับข้าราชการครูที่ขอย้าย หรือโรงเรียนได้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู
มาแทนที่ขอย้าย ซึ่งอาจไม่ทันในการเปิดภาคการเรียนของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนขาดข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู
ในโรงเรียนมีภาระงานที่มากขึ้น จึงควรให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. และผู้บริหารสถานศึกษา เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองการย้ายจะทำให้ระยะเวลาการพิจารณาการย้ายมีความรวดเร็วมากขึ้น และสถานศึกษาได้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ที่ตรงกับความต้องการของสถานศึกษา
ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ด้านหลักเกณฑ์และวิธีการย้าย คือ ควรกำหนดรายละเอียดของตัวชี้วัดขององค์ประกอบด้านรางวัลที่ได้รับหรือผลงานที่แสดงถึงความรู้ความสามารถที่ชัดเจน เช่น ประเภทรางวัล ระดับของรางวัล จำนวนรางวัล เป็นต้น ส่วนด้านการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายของทุกประเภทการย้าย คือ ผู้พิจารณากลั่นกรองการย้ายต้องมีความเป็นธรรม โปร่งใส เป็นกลาง และยึดหลักธรรมาภิบาล ควรให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. และผู้บริหารสถานศึกษา
เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองการย้ายเพื่อให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วมากขึ้น และควรมีการจัดประชุมร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาการย้าย และควรให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา
เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาการย้ายหรือการรับย้าย เมื่อพิจารณาตามประเภทการย้าย พบว่า ข้อเสนอแนะการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายกรณีปกติ คือ ควรยื่นคำร้องขอย้ายกรณีปกติในเดือนสิงหาคมของทุกปี ควรปรับระยะเวลาการยื่นคำร้องเป็นปีละ 2 ครั้ง ควรยื่นคำร้องได้มากกว่า 1 เขตพื้นที่การศึกษา ควรให้ความสำคัญกับการย้ายกลับภูมิลำเนา ส่วนข้อเสนอแนะ
การดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายกรณีพิเศษ คือ ผู้พิจารณากลั่นกรองการย้ายกรณีพิเศษควรให้ความสำคัญกับการดูแลบิดามารดาที่เจ็บป่วยร้ายแรงมากกว่าการย้ายกรณีอื่น ควรเชื่อมั่นและดำเนินการตามความเห็นของแพทย์ที่ปรากฎในหลักฐานทางการแพทย์ และมีการตีความการพิจารณาการย้ายในทิศทางเดียวกันทุกพื้นที่
ข้อมูลทั่วไป - บุคลากรทางการวิจัย
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ระบบสารสนเทศการวิจัย สำนักงาน ก.ค.ศ.

กลุ่มเครือข่ายการวิจัยและสารสนเทศ
 ภารกิจวิจัยนวัตกรรมการบริหารงานบุคคล
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา